จิตใจคนเราไม่ได้โหดร้ายหรอกครับแค่ว่าเราให้ความสำคัญกับทุกชีวิตที่ไม่เท่ากันครับ เช่น ถ้าหากว่า มีนายเอฆ่าลูกคุณ คุณจะเสียใจกับการสูญเสียชีวิตของลูกคุณ แต่ เมื่อหลังจากนั้นนายเอโดนประหารชีวิตคุณจะเสียใจเหมือนกับที่ลูกคุณถูกฆ่าอย่างงั้นหรือ ? แปลกใจเหรอเปล่าล่ะครับ ว่า ทำไมคุณกลับรู้สึกไม่เหมือนกัน แล้ว คุณทำไมให้ความสำคัญกับชีวิต "คน" เหมือนกันได้ไม่เท่ากัน
คุณอาจจะพอคิดออกว่า เหตุที่คุณให้ความสำคัญแก่ชีวิตได้ไม่เท่ากัน มันมีเหตุผลต่างๆมากมายโดยที่ตัวคุณเองแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าคุณก็คิดแบบนี้เหมือนกัน อันได้แก่
ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ : ถ้าหากว่าคุณเจอหน้ากันทุกวัน ปฏิสัมพันธ์กันทุกวัน จะทำให้คนๆนั้นเป็นตัวละครหนึ่งในชีวิตคุณ แล้วคุณก็จะเริ่มเพิ่มน้ำหนักและคุณค่าให้กับคนๆนั้น ถ้าหากว่าเค้าทำให้คุณมีความสุข หรือ ให้ผลประโยชน์กับคุณครับ ถ้าหากว่าลองคิดสถานการณ์ให้เป็นกรณีที่ชัดเจนก็เช่น ถ้าหากว่าพ่อแม่ของคุณไม่ได้เลี้ยงดูคุณแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งเพราะเค้าเหล่านั้นได้เสียไปก่อนแล้ว ระหว่างที่คุณยังเด็ก แล้วคุณก็ถูกเลี้ยงดูด้วย พ่อแม่ไม่แท้ของคุณ เมื่อคุณโตขึ้น ปรากฏว่าพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นเกิดปรากฏตัวด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง อาจจะด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีใดๆก็สุดแล้วแต่ แต่คุณจะให้ความรู้สึกผูกสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่แท้ๆที่ไม่ได้เลี้ยงดูคุณและเค้าก็ไม่ได้ผิดอะไรที่ทิ้งคุณไป เมือเทียบกับพ่อแม่ไม่แท้แต่เลี้ยงดูคุณมา
การกระทำของบุคคลที่ทำให้เกิดผลต่อตัวคุณ : แน่นอนว่าเหตุผลนี้ก็ย่อมสัมพันธ์กับข้อที่แล้วไม่มากก็น้อย คือ ถ้าหากว่าคุณมีเพื่อนอยู่สองคน คนหนึ่งจ้องคอยแต่ละทำร้ายทำลายคุณ และอีกคนเฝ้าคอยแต่ช่วยเหลือไปเสียหมดในทุกๆด้าน เรียกว่าเพื่อนสองคนทำดีต่อคุณหรือสร้างผลประโยชน์ให้แก่คุณได้กลับขั้วกันสุดๆ (เพื่อให้เห็นภาพชัด) แต่เมื่อสองคนนี้นั่งรถไปเจอประสบอุบัติเหตุพร้อมกันด้วยเหตุผลเดียวกัน แล้วทั้งสองก็เป็นเพื่อนของคุณทั้งคู่ คุณรู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กัน คุณอาจจะแปลกใจว่า นอกจากความเวทนาที่จะเกิดขึ้นนั้น ปกติแล้ว คุณจะรู้สึกได้ถึงความไม่เท่ากันในทันที
การกระทำของบุคคลที่ก่อให้เกิดผลต่อคนอื่น : แนวคิดนี้ก็คล้ายกับข้อเมื่อครู่ก็คือ แทนที่จะเป็นการกระทำต่อตัวคุณ ลองคิดวิเคราะห์กับการกระทำต่อคนอื่นแทน แม้ว่า คนอื่นนั้นจะเป็นคนที่คุณไม่รู้จักแม้แต่น้อย เช่น คนสองคนนี้ คือ คนหนึ่งใช้ปืนยิงหมาน้อยตาย และอีกคนหนึ่งที่เป็นฝาแฝดกับคนเมื่อตะกี้ ยิงคนตาย (คนคือใครก็ไม่รู้ไม่รู้จักแม้แต่น้อย) ทั้งสองคนจะถูกโทษประหาร เพราะมีการทำลายชีวิตสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่ตน คุณจะรู้สึกสงสารได้อย่างไม่เท่ากัน คุณอาจจะคิดว่า ก็อีกคนยิงหมาตายแล้วต้องมาตายมันก็ไม่ควร แต่ที่ผมยกสถาการณ์นี้มาสมมุติให้เพื่อที่คุณจะได้เห็นภาพว่า การกระทำของบุคคล มีผลต่อการให้คุณค่าชีวิตได้ไม่เท่ากัน คุณอาจจะลองคิดต่อว่า ถ้าหากว่า คนทั้งสองคนนี้ถูกเอามาประหารชีวิตโดยที่คุณไม่รู้และไม่มีทางรู้ได้ว่าสองคนนี้ได้กระทำอะไรมาบ้าง คุณจะเริ่มเกิดความสงสาร ต่อคนทั้งสองด้วยคุณค่าของชีวิตที่เริ่มขยับใกล้เคียงกันขึ้นมาทันที
แค่สองสามประเด็นที่กล่าวไปนั้นทำให้มนุษย์เราสร้างกรอบและวิธีคิดครอบชั้นเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เช่น การแบ่งแยกประเทศ การแบ่งแยกสีผิว ชนชั้น และเผ่าพันธ์ โดยทั้งหมดยังอยู่ภายใต้แนวคิดพื้นฐานเดียวกัน คือ ความสัมพันธ์ และ การกระทำ โดยเกิดความคิดแบบอุปนัย ขยายผล และเหมารวมประกอบเฉลี่ยให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นพรรคเป็นพวก เพื่อให้สมองเราคิดในเรื่องคุณค่าต่อบุคคลคนหนึ่งได้แตกต่างกันอย่างเป็นกลุ่มๆ เพราะ เราก็ไม่ได้รู้จักไปเสียหมดทุกคนได้อยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็เพียงเท่านี้
ประเด็นที่ผู้ถาม ถามเป็นประเด็นทางศีลธรรมที่ถ้าหากว่าคิดกันแท้จริงแล้วกลับเป็นพื้นฐานความคิดอันเนื่องมาจากความต้องการการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในสัตว์ทุกๆประเภท แค่ชีวิตสัตว์กับชีวิตคนเราก็มองคุณค่าได้ไม่เท่ากันแล้ว ถ้าหากไม่มีความสัมพันธ์อื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง สัตว์บางประเภทมองสัตว์บางประเภทเป็นอาหาร และมองสัตว์ประเภทเดียวกัน เป็นภัยแก่ตัวก็ได้ หรือมองสัตว์ประเภทเดียวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อช่วยกันล่าสัตว์อื่นก็ได้ อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์และการกระทำของสิ่งมีชีวิตตนนั้นๆจะยังคงอยู่ภายใต้สามเหตุผลที่ได้กล่าวไป ผมไม่ได้บอกว่า ถ้าหากว่าเป็นสัตว์แล้วคุณค่าจะลดลง ! เพราะถ้าหากว่าสัตว์นั้นมีความสัมพันธ์ต่อตัวคุณได้ดีกว่าสัตว์มนุษย์ด้วยกันเอง เช่น แฟนคุณเลี้ยงหมาตั้งแต่เด็กมาได้ห้าปีแล้ว แล้วเดินทางไปประเทศที่มีชนเผ่าประหลาดที่กำลังจะประหารชีวิตคนคนหนึ่ง แล้วหันมาหาแฟนคุณบอกว่า แฟนคุณมีสิทธิ์ที่จะเอาหมาที่เลี้ยงไว้โดยประหารแทนเพื่อยกเลิกคำสั่งประหารคนคนนั้นได้ คุณอาจจะเริ่มไม่แน่ใจว่าแฟนคุณจะยอมเอาหมาน้อยใช้เพื่อการนี้หรือไม่
มุมมองเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องประหลาดที่คนอาจจะไม่ได้กลับมานั่งคิดกันเสียเท่าไหร่แต่เมื่อที่คนถามก็ลองคิดๆดูได้ไม่ยากว่า "ทำไมชีวิตถึงได้มีค่าไม่เท่ากัน?" หรือคุณจะบอกว่า "ไม่จริง?"
No comments:
Post a Comment