Friday, August 07, 2009

ทิศทางและแนวโน้มของงานของมนุษย์ที่จะหลงเหลืออยู่ในอนาคต (อันใกล้?)

งานที่มีอยู่ในสังคมโลกเรานั้นถ้าหากแบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ผมก็คิดว่ามันก็ไม่น่าจะมีมากประเภทอะไรนัก หลักๆแล้วน่าจะโดนแบ่งออกว่างานนั้นจะใช้แรงงานกายภาพที่ใช้กล้ามเนื้อแท้ๆ และงานที่จะใช้แรงงงานกายภาพที่ใช้กล้ามเนื้อสมอง แล้วงานที่ใช้กล้ามเนื้อสมองก็จะแบ่งออกไปได้อีกว่าเป็นงานที่จะต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ออกแบบหรือประเมินนัยภาพเชิงศิลป์ นัยภาพเชิงศิลป์นั้นผมหมายถึง งานที่ดูออกได้ว่าดีไม่ดีหรือสวยไม่สวย งามไม่งาม เจ๋งไม่เจ๋งได้จากการสำเนียงรู้ของสมองที่สัมผัสได้ด้วยความสุนทรีย์ สนุกสนานหรือบันเทิง งานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ art ๆหน่อยว่าอย่างงั้นก็ได้ กับอีกประเภทที่เป็นงานใช้แรงงานสมองที่ต้องประกอบไปด้วยตรรกะ การทำงานที่เป็นขั้นตอน การประเมินข้อมูลเชิงวิเคราะห์ เรียกงานๆว่าการแบ่งแยกงานที่ใช้แรงงานกล้ามเนื้อสมองนั้นโดนแบ่งตามซีกสมองยังไงอย่างงั้นก็ว่าได้

ย้อนกลับมาในมุมมองที่กว้างกว่าเมื่อสักครู่เราอาจจะแบ่งงานคร่าวๆออกได้จากอีกมุมมองหนึ่งก็คือ งานที่ดูเหมือนเป็นงานซ้ำเดิม และ งานที่ดูเหมือนว่าเป็นงานไม่ซ้ำเดิม (ที่ผมพิมพ์ว่าดูเหมือนด้วยนั้นก็เพราะว่า บางคนอาจจะดูว่างานๆนั้นซ้ำหรือไม่ซ้ำก็ได้แล้วแต่มุมมองกับทัศนคติต่องานประเภทนั้น) ยกตัวอย่างเช่น การทำบัญชีที่เป็นไปตามกฏอย่างถูกต้อง น่าจะเป็นงานที่ทำซ้ำๆตามแกนเวลา เมื่อถึงรอบบัญชีก็ต้อง หรือ การตรวจสอบประวัติคนเข้าเมืองของด่านที่สนามบินเป็นต้น งานแบบนี้ก็เป็นงานซ้ำที่เรียกได้ว่าคิดออกได้ไม่ยากและไม่มีข้อกังขาแต่ประการใดว่ามันเป็นงานซ้ำโดยแท้

จากมุมมองงานที่ทำซ้ำได้หรือ งานที่สามารถกำหนดกฏเกณฑ์หรือตรรกะได้อย่างแน่ชัดนั้นอีกหน่อยแล้ว หากไม่โดยพิจารณาว่าเป็นงานที่ใช้แรงงานเท่านั้นมันก็จะโดยการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่าเข้ามาทดแทนในท้ายที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง การตรวจอาจจะพิจารณาว่าคนที่เดินเข้ามานั้นหน้าเหมือนกับ passport หรือไม่ และ ต้องดูเองสารว่ามีสัญลักษณ์ต่างๆครบถ้วนหรือไม่ และ ต้องดูอีกว่า passport นั้นเป็นของจริงหรือไม่ และต้องฟังสำเนียงเสียงว่าเป็นคนของประเทศตาม passport หรือไม่ และต้องดูอีกว่าหน้าไม่เหมือนโจรข้ามชาติที่จะมีปะเอาไว้ที่หัวโต้ะ สมมุติก่อนแล้วกันว่างานของคนที่นั่นเค้าทำกันอย่างนี้และเท่านี้ เราก็จะคิดระบบที่ดีกว่าโดยไม่ต้องใช้คนทำงานนั้นสามารถทำได้เมือ technology มาถึงจุดที่จะมีการใช้ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่าง เช่น การเปรียบเทียบภาพถ่ายอัตโนมัติเพื่อที่จะดูว่าคนที่อยู่ตรงหน้านั้นเหมือนกับภาพในการสมุดหรือไม่ หรือดูออกว่าเป็นภาพโจรหรือมีความคล้ายกันหรือไม่ ระบบฟังเสียงเพื่อคัดกรองสำเนียงภาษา โดยการอ่านหรือพูดประโยคใดๆที่โดนสุ่มออกมาเพื่อเปรียบเทียบกับชุดเสียงของคนในประเทศๆนั้นตามเพศและอายุ เพื่อดูว่าเป็นคน local แล้วพูด local ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เป็นต้น กรณีที่ผมยกตัวอย่างมาให้ฟังนั้นอาจจะยังไม่ได้ถูกแทนที่ทันทีด้วยระบบอัตโนมัติเพราะยังไม่มีจุดคุ้มทุนของ Technology ที่เหมาะสม ณ เวลานี้แต่เมื่อมันถึงเวลางานนี้จะโดนระบบอัตโนมัติแย่งไปในท้ายที่สุดอยู่ดี

งานจะโดนแย่งไปโดยระบบอัตโนมัติทันทีเมื่อมันทำได้ คิดออกได้ไม่ยากเช่นการว่าจ้างคนมาเปิดประตูโรงแรม โดยแย่งงานไปโดนระบบเปิดประตูอัตโนมัติด้วยการจับการเคลื่อนไหว ยามที่เฝ้าหน้า supermart เพื่อแจกบัตรทั้งหลายแหล่ก็จะโดนระบบกล้องบันทึกอัตโนมัติมาแทนที่ โอเปอร์เรเตอร์ที่ค่อยรับสายโทรศัพท์และส่งต่อไปยังโทรศัพท์ภายในประจำโต้ะจะถูกแทนที่ด้วยระบบ voice recognition (ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร) แท้ที่จริงแล้วเรากลับมองเรื่องการแย่งงานมนุษย์ในเชิงที่ว่า เป็นการประหยัดแรง หรือ ทุ่นแรง แล้วเอาคนไปทำงานอย่างอื่นที่สร้างสรรค์กว่านี้อย่ามาทำอะไรที่งี่เง่าอย่างนี้จะดีกว่ามั้ย มุมมองนี้ฟังดูดีและดูเหมือนจะทำให้โลกเรารุดหน้าไปได้เร็วกว่าเดิม เพราะ งานที่เหลือทั้งหมดจะต้องเป็นงานสร้างสรรค์เสียเท่านั้นถ้าไม่อย่างงั้นคุณก็จะต้องได้ค่าแรงที่ต่ำมากๆเพราะมันต่ำกว่าจุดคุ้มทุนต่อการเอาระบบอัตโนมัติเพื่อมาทดแทนเท่านั้นเอง ตรรกความคิดก็จะเหลืออยู่เพียงเท่านี้ที่ว่า เมื่อมันแทนแรงงานคนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและเป็นงานที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไร ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่ทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ยังไงอย่างงั้น

งานที่จะโดนระบบอัตโนมัติแย่งไปอย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องเป็นงานที่ดูไม่สร้างสรรค์ใครๆก็ทำได้อย่างนั้นเท่านั้น งานที่จะโดนระบบอัตโนมัติเข้าแย่งอาจจะเป็นได้สำหรับงานอาชีพเฉพาะได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าหากว่างานนั้นมีตรรกะในการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และ logic ในการนึกคิดเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน ผมยกตัวอย่างเช่น การทำบัญชี แม้ว่าผู้ที่บัญชีหรือทำการตรวจสอบได้จะต้องเรียนหรือศึกษามาแต่ในอนาคตคุณค่าหรือมูลค่าความรู้ความสามารถเหล่านั้นจะด้อยถอยค่าลงไปเรื่อยๆตามเวลา เมื่อมีการพัฒนา software หรือระบบ online หรือระบบตัดสินใจใดๆอย่างอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ คนที่ไม่รู้เรื่องเหล่านั้นก็ทำได้เอง หรือ การทำบัญชีกระทำไปได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมอันเนื่องมาจากมีระบบนักบัญชี online ที่ทำงานอย่างอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งอาชีพหมออายุกรรม ที่ทำหน้าที่ในการฟังและวินิจฉัยโรค จะมี logic ในการคิดประเมินหาว่าเป็นโรคอะไรอย่างชัดเจนและเป็นระบบ นั่นก็แปลว่าอีกหน่อยจะมีชุด software ที่ทำหน้าที่แทนคุณหมอได้แบบ online เลือกคำถามพิมพ์อาการอธิบายเอาไว้าแล้วระบบจะบอกว่าต้องไปตรวจอะไรมาเพิ่มเติมเพื่อกรอกคำตอบของคำถามอื่นๆต่อไปและ logic ที่มีความชัดเจนจะออกผลลัพธ์มาเป็นคำตอบเพื่อบอกให้คนไข้(ที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แล้วก็ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนยกเว้นไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล) ระบบก็จะออกยาแล้วคนก็ทำหน้าที่แค่ซื้อยามาทานตามที่ระบบบอกเราให้ทำ แน่นอนว่าระบบนี้จะต้องถูกสร้างจากตรรกความคิดของอาชีพหมอโดยแท้และเชื่อมข้อมูลระหว่างผลการตรวจจากโรงพยาบาลและคลังยาต่างๆว่าจะให้ไปซื้อยาได้จากที่ไหนในรัศมีสามกิโลเมตรเพื่อเอามาทาน แถมยังจะนัดเรามาเข้าเว็ปเพื่อทำการแจ้งความคืบหน้าของอาการอีกว่าดีขึ้นหรือไม่ ทำตัวได้เหมือนคุณหมอคนนึงในท้ายที่สุด ใช่แล้วที่ว่าจริงๆเราไม่ได้ต้องการหมอหรอก เราต้องการที่จะหายจากอาการป่วยโดยใช้ความรู้การวิเคราะห์ที่เหมือนหมอเท่านั้นเอง เพื่อที่จะทำให้เราหายป่วยลงไปได้ หมอที่เป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่นี้เลยก็จะหายไปในท้ายที่สุด แต่หมอเพื่อการพัฒนาสร้างสรรค์จะต้องมากขึ้นแทน นั่นน่ะหละ ก็เหมือนกับแนวคิดเดิมที่ว่า เอาคนไปทำอะไรอย่างอื่นทีสร้างสรรค์กว่าไม่ดีกว่าเหรอ แปลได้อีกนัยหนึ่งก็คือ อาชีพหรือการทำงานที่เคยทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้อนาคตมันจะเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งหมดไปได้หากว่า

มันเป็นงานซ้ำที่น่าเบื่อสำหรับมนุษย์
มันเป็นงานซ้ำที่ผูกติดกับวิชาความรู้จำเพาะ
มันเป็นงานที่กระทำได้ด้วยตรรกะความคิดที่มีรูปแบบที่แน่นอน
มันคุ้มเงินกว่าที่จะใช้ระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

งานต่างๆเหล่านั้นจะโดนลดมูลค่าลงไปเรื่อยๆอันเนื่องมาจากมีคนที่ทำได้ถูกลงไปเรื่อยๆเพื่อต้องสู้กับการแทนที่ได้โดยระบบอัตโนมัติ งานเหล่านั้นจะหายไปในที่สุดของเรื่องราวโลกนี้

ว่าแต่ว่าโลกนี้จะเหลืองานอะไรให้ทำอีก ?
แน่นอนว่างานที่เป็นเงินเดือนจะยังคงอยู่แต่จะเป็นงานที่ออกแนวสร้างสรรค์มากขึ้น สำหรับงานที่ไมสร้างสรรค์ทั้งหลายจะถูกลงไปอีกเท่าที่มันจะคุ้มกว่าการ implement ใช้งานระบบอื่นๆมาแทนที่ คนที่ทำงานสร้างสรรค์เยอะขึ้นแม้มันจะฟังดูดีแต่ว่าแน่นอนว่า การทำอะไรได้เหมือนๆกับเยอะขึ้นนั้นจะทำให้สิ่งๆนั้นถูกลงไปอีก สิ่งที่จะทำให้คนทีทำอะไรได้เหมือนๆกันแต่ได้ราคาไม่เท่ากันก็คือคำประวัติผลงานอันสร้างสรรค์ที่ได้ทำออกมาแล้วหรือการตลาดเพื่อ present ตัวเองเท่านั้น คนที่เหลือที่ได้ทำงานสร้างสรรค์ก็ต้องทำงานโดยโดนระบบเข้าครอกงำไม่ได้คิดและตัดสินใจอะไรเองแต่อย่างใด เช่น การทำงานเหมือนหุ่นยนค์ที่ร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ ไม่ต้องพูดถึงว่ากระบวนการจะมีการกำหนดออกมาแล้วว่าต้องทำตามขั้นตอนอย่างไรโดยการดูที่หน้าจอ แม้กระทั่งบทพูดก็มีการกำกับเอาไว้แล้วหากว่ามันมี text ขึ้นมาในสมองคนถ้าทำได้ก็คงทำไปแล้ว เพราะจะได้พูดเหมือนกันไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องใช้สมองและให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารดีที่สุดด้วยการพูดที่น้อยคำและใช้เวลาในการสื่อสารน้อยที่สุดที่ออกแบบโดยวิศวอุตสาหการบ้าเลือด(แน่นอนว่าจะเป็นงานสร้างสรรค์อย่างหนึ่งเพราะงานนี้ก็ต้องคิดแบบออกแบบกระบวนการโดยการรับข้อมูลประมวลผลแบบไร้รูปแบบและกำหนดทดสอบออกแบบระบบและพัฒนาต่อไป Plan , do , check , act ว่าอย่างนั้นก็ได้) คนที่ได้ประโยชน์จากระบบจริงๆจะกลับกลายเป็นองค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และคนจะทำงานให้กับองค์กรเหมือนกับหุ่นยนต์ที่เฝ้าหน้าร้านแฮมเบอร์เกอร์ก็จะได้เงินตามเวลาอย่างเหมาะสมที่สุด (น้อยกว่าการ implement auto robot แต่ว่าคนก็มาแย่งงานนี้ทำกัน เพราะทำกันได้ไม่ยาก แน่นอนว่ามันจะน้อยเท่าแรงงานขั้นต่ำ หรือ ต่ำกว่านั้นได้อีกถ้าหากว่ากฏหมายไม่ได้กำหนดอะไรเอาไว้เลย) คนที่ทำงาน office ที่เป็นงานซ้ำก็ได้เงินต่อเวลาเหมือนกันแต่ว่าฟังดูอาจจะเยอะกว่าหน่อยแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรแล้วก็ใช้ชีวิตกับเงินเหล่านั้นไปเรื่อย แล้วถ้าหากว่ามีเงินเหลือทางเลือกที่ฉลาดก็คือการลงทุนกับองค์กรหรือระบบใหญ่ที่ตัวเองคิดว่ากิจการน่าจะไปได้สวยก็เท่านั้น

สังคมโดยรวมจะไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้แม้แต่น้อยเพราะเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นเป็นค่อยเป็นค่อยไปที่สุดโดยไม่มีคนไปนึกถึงภาพกว้างๆอย่างนี้ (เหมือนกับว่าไม่รู้จะนึกออกได้ยังไง หรือ ไม่รู้ก็อาจจะเห็นได้ว่าไม่รู้ว่าจะนึกไปทำไม) แต่คนก็จะรับมันได้แล้วก็ชินกับมันไปในที่สุด พวกหนึ่งจะทำงานเพื่อออกแบบสร้างระบบ สร้างสรรค์ศิลปะ ออกแบบ product และวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อให้เร็วสะดวก เพื่อให้ทดแทนคนได้มากกว่าเดิม ได้เร็วได้ดีกว่าเดิม และทำให้เส้นคุ้มทุนเมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์ลดหลั่นชั้นเตี้ยลงไปเรื่อยๆ แล้วอีกพวกหนึ่งก็จะเป็นพวกที่ทำงานที่คิดว่าตนเองสร้างสรรค์แต่กลับโดนครอบงำไปด้วยระบบอยู่อย่างรับได้หรือไม่รู้ตัว โลกเราก็ดำเนินไปแล้วก็ปล่อยให้คนที่เห็นแนวทางนี้และหาประโยชน์จากทิศทางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบของงาน กลั่นอัตประโยชน์(ที่สร้างสรรค์)ออกมาเป็นความมั่งคั่งต่อไป ..  แล้วคุณเองล่ะ เตรียมตัวให้พร้อมกับทิศทางการงานของโลกที่จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ?

No comments: