Thursday, April 30, 2009

7 habits : นิสัยเจ็ดประการ

ผมต้องขอบอกก่อนว่านี้เป็นข้อความที่ มีการสรุปความมาแล้วแต่ว่า เป็นอาจารย์บุญชัย (ผมเคยเรียนภาษาอังกฤษมาด้วยน่ะครับ) เค้าจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ เพื่อสอนคนอื่นอยู่แล้ว แล้วก็มีออกอากาศเพื่อสรุปความหนังสือ แต่สำหรับผมแล้วหนังสือเล่มที่แม้ว่าผมจะไม่เคยอ่านแต่ก็อยากจะได้รู้ ได้คิดตามก็คือ หนังสือเกี่ยวกับ นิสัยเจ็ดประการนี้ครับ เพราะอยากจะบอกเหลือเกินความว่า มันเป็นอย่างงั้นจริงๆครับ ! ข้อมูลทั้งหมดต่อไปนี้มาจาก http://www.drboonchai.com

 

นิสัย 7 ประการสู่ความสำเร็จ

 

The 7 Habits of Highly Effective People ประพันธ์โดย Steven Covey เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างมากต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 15 ปี และถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 15 ล้านเล่ม ผู้แต่งได้กล่าวถึงนิสัย 7 ประการของผู้ที่ประสบความสำเร็จ แผนที่ในการดำเนินชีวิตเพื่อไปสู่ความสำเร็จ และวิธีการยกระดับคุณภาพจิตใจ เป็นต้น มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้

ก่อนที่จะกล่าวถึงนิสัยทั้ง 7 ประการ ผู้แต่งได้ให้แง่คิดว่ามนุษย์มีสิ่งที่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานอยู่ 3 อย่างคือ มีสามัญสำนึกรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีพลังจิต ดังนั้น การเอาใจใส่และหมั่นฝึกฝนคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้จนกลายเป็นนิสัย จะทำให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ผู้แต่งได้กล่าวว่า กรอบในการมองโลก (paradigm) หรือนิสัยของคนเรานั้นส่วนใหญ่จะถูกปลูกฝังมาจากการสั่งสอนของคนรอบข้าง การใช้ชีวิตในสังคม และจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และด้วยความเคยชินทำให้คนเรานั้นไม่เคยฉุกคิดว่ามุมมองที่มีอยู่นั้นถูกต้อง หรือเหมาะสมหรือไม่ จึงก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและไม่เข้าใจผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะเอาความคิดของตนเองเป็นตัวตัดสิน ดังนั้น ผู้แต่งจึงแนะนำให้หยุดทบทวนแนวความคิดมุมมองและคติธรรมในใจที่เคยยึดถือ ตลอดมาว่า สิ่งเหล่านั้นถูกต้องแล้วจริงหรือ ให้พิจารณาตามความเป็นจริง สิ่งไหนคิดผิดให้คิดใหม่แก้ไขที่ต้นเหตุ เมื่อเข้าใจตนเองจึงจะเข้าใจผู้อื่นได้ นอกจากนั้นผู้แต่งยังเชื่อว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นส่วนหนึ่งเกิด จากการมีสมองข้างขวาที่ทรงประสิทธิภาพสามารถควบคุมการทำงานของสมองด้านซ้าย ได้ สมองข้างขวามีหน้าที่เตือนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี การมีจินตนาการ และการมีอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้น การฝึกใช้จินตนาการและมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นการพัฒนาการทำ งานของสมองด้านขวาได้เป็นอย่างดี

กฎข้อที่ 1. นิสัยรู้และเลือก (Be Proactive)

การรู้และเลือกคือการมีสติตามตัวอยู่ตลอดเวลา รู้ตัวว่าขณะนี้ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และผลที่เกิดจากการกระทำนี้คืออะไร รู้ว่าขณะนี้ตัวเรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบใด สถานการณ์ปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรานั้น มีผลอะไรต่อตัวเราบ้าง และเรามีการตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังเผชิญอย่างไร ตอบสนองด้วยกิริยาใดด้วยอารมณ์แบบไหน ปกติแล้วมนุษย์มีอารมณ์หลักอยู่สามอารมณ์คือ สุข ทุกข์ และเฉย ๆ หากเรารู้เท่าทันอารมณ์เราจึงจะรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ เมื่อรู้แล้วเมื่อเห็นแล้วจึงจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ คนเรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดชีวิตของตนเองแต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักปล่อยให้ ชีวิตดำเนินไปตามกระแสสังคม ถูกฉุดกระชากไปตามอารมณ์และการกระทำของผู้อื่น เช่นเมื่อได้รับคำชมก็ดีใจ ได้รับคำตำหนิก็เสียใจ หรือคนพูดไม่ได้ดั่งใจก็โกรธ เป็นต้น เราเอาพฤติกรรมของเราไปขึ้นกับการกระทำและความคิดของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สรุปแล้วชีวิตนี้เป็นของใครกันแน่ ดังนั้น หากเรารู้จักเลือก รู้จักหยุดคิดก่อนที่จะตอบสนอง เราจึงจะมีชีวิตที่เป็นของเราจริง ๆ และจะเลิกโทษผู้อื่น เลิกโทษโชคชะตาเทวดาฟ้าดิน และจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีวุฒิภาวะอย่างแท้จริง เมื่อนั้นจิตจึงจะนิ่งสงบไม่กระเพื่อมไปกับสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบ จิตจึงมีพลังสามารถทำการใหญ่ได้ การจะมีสติตามทันอารมณ์ได้นั้นจิตต้องมีความสงบหรือมีสมาธิในระดับหนึ่ง ซึ่งทำได้โดยการ การสวดมนต์ หรือทำสมาธิ เป็นต้น

กฎข้อที่ 2. สร้างเป้าหมายในชีวิตเป็นภาพจารึกไว้ในจิตใจ (Begin with the End in Mind)

การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ตอนนี้ อีก 5 ปี 10 ปี หรือในบั้นปลายชีวิตเราอยากจะมีชีวิตแบบใด เมื่อมีเป้าหมายเราจะรู้ว่าตอนนี้ควรทำสิ่งใด ตอนนี้กำลังยืนอยู่ตรงจุดไหน จะต้องไปอีกไกลเท่าไร และไปด้วยวิธีใดบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมาย จะทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่าและไม่น่าเบื่อ เป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ของเรา เป้าหมายที่ดีจะต้องชัดและต้องสร้างเป็นภาพจารึกไว้ในจิตใจตลอดเวลาและการ สร้างเป้าหมายต้องมาจากสิ่งที่เราชอบจริง ๆ ไม่ใช่ทำตามกระแสสังคม และที่สำคัญเป้าหมายนั้นต้องพอที่จะเป็นไปได้ นอกจากนั้นเป้าหมายในที่นี้ผู้แต่งยังหมายถึงภาพพจน์ที่เราต้องการให้คนอื่น จดจำเราได้นั้นเป็นแบบใด เช่นหากเราตายไปตอนนี้เราอยากให้ทุกคนจดจำเราได้ในแบบใด เป็นต้น

กฎข้อที่ 3. ทำสิ่งที่ต้องทำก่อน (Put First Things First)

การทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จะต้องเลือกทำในสิ่งที่นำพาเราไปสู่เป้าหมายก่อนเป็นอันดับแรก และทำอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงจุดไหน อีกไกลเท่าไร และเรามาถูกทางหรือไม่ มีเส้นทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นหรือเปล่า หรือเรากำลังเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไร้สาระ เป็นต้น ในการประเมินแต่ละครั้งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จะต้องซื่อสัตย์ ใช้สติ และไม่เข้าข้างตัวเอง นอกจากนั้นควรเลือกทำสิ่งที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญในชีวิตก่อน คนส่วนใหญ่มักเลือกทำในสิ่งที่เร่งด่วนก่อนเสมอ โดยลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านั้นสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตหรือไม่ จงอย่าทำตามสิ่งที่สังคมกำหนด แต่ให้เลือกทำในสิ่งที่เรากำหนดเอง และผู้แต่งกล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนทำสิ่งใดต้องวางแผนในระยะยาวอย่าวางแบบวันต่อวัน เพื่อจะได้งานเป็นกรอบเป็นกำ และต้องหัดมอบหมายงานให้กับคนที่ไว้ใจได้ เพื่อที่เราจะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่สำคัญและตรงตามเป้าหมายในชีวิตได้มากขึ้น

กฎข้อที่ 4. การรู้จักแบ่งผลปันประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย (Think Win/Win)

ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น คนในครอบครัว เจ้านายลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า เป็นต้น ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน การไม่คิดถึงตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือเอาความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง นั่นคือการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้รู้ได้โดยการมองย้อนเข้าหาตัวเองว่าหากเป็นเราเจอแบบนี้จะ รู้สึกอย่างไร และนอกจากการเข้าใจผู้อื่นแล้วผู้แต่งได้กล่าวถึงบุคลิกลักษณะที่น่าคบหาสมา คมและน่าเชื่อถือคือต้องปากกับใจตรงกัน รู้จักรักษาคำพูด มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคง สงบนิ่ง ใจกว้าง และมองโลกในแง่ดี และที่สำคัญในฐานะผู้บริหารหากต้องการให้คนในองค์กรได้รับประโยชน์อย่างเท่า เทียมกัน ควรจะจัดระบบขึ้นมารองรับ เช่นคนที่ตั้งใจทำงานก็ควรจะมีรางวัลหรือโบนัส เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและทุกฝ่ายในองค์กรได้รับประโยชน์เท่ากันอย่างแท้ จริง

กฎข้อที่ 5. การพยายามเข้าใจผู้อื่นมากกว่าให้ผู้อื่นมาเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to Be Understood)

ส่วนใหญ่แล้วมนุษย์มักชอบพูดให้ผู้อื่นฟังมากกว่าฟังที่คนอื่นพูด ดังนั้น เมื่อไม่มีใครยอมฟังใครปัญหาจึงเกิดขึ้น การฟังอย่างตั้งใจและพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่นแทนที่จะให้ผู้อื่นมาเข้าใจ เรา อีกฝ่ายจะรับรู้ถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากเรา และเกิดความผ่อนคลายลงในระดับหนึ่งและจะยอมรับฟังความคิดเห็นจากเราด้วยใน ที่สุด การเป็นผู้ฟังที่ดีและพยายามที่จะเข้าใจอีกฝ่าย เช่น ขณะนั้นเขารู้สึกอย่างไร และเขาพูดไปเพื่ออะไร เป็นต้น จะทำให้มองเห็นประเด็นของปัญหาได้อย่างชัดเจนและสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด แต่ผู้แต่งได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การฟังนั้นต้องฟังอย่างมีสติ อย่าฟังจนเคลิ้มและต้องมีจุดยืนในตัวเองด้วย ผู้แต่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจจะช่วยลดอคติที่มี ต่ออีกฝ่ายได้และจะไม่เกิดการตัดสินคนจากคำพูดเพราะขณะนั้นจิตใจจะมีความ เมตตาไม่ปรุงแต่งเป็นอารมณ์ นอกจากนั้นหากต้องการพูดแสดงความเห็นอกเห็นใจ ก่อนพูดควรถามความรู้สึกของตนเองก่อนว่าในเวลานี้ควรพูดหรือไม่ ควรพูดแค่ไหน และควรพูดอย่างไรจึงจะเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายอย่างแท้จริง

กฎข้อที่ 6. การสร้างทีมเวิร์ค (Synergize)

การสร้างทีมเวิร์คให้เกิดขึ้นภายในองค์กรเป็นหน้าที่ของผู้บริหารคือการดึง เอาศักยภาพของลูกน้องแต่ละคนมาผสมผสานกันอย่างลงตัว และสามารถเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ ในฐานะผู้บริหารต้องมองปัญหาและการทะเลาะเบาะแว้งให้เป็นเรื่องปกติ แต่ให้คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นผลงานได้ นอกจากนั้น การบริหารลูกน้องจำนวนมาก ๆ จะใช้วิธีเดียวกันหมดไม่ได้เพราะแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ในฐานะเจ้านายจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะรู้ได้ว่าคนไหนต้องใช้วิธีใดก็ต้องเริ่มจากการรู้จักตนเองก่อนเมื่อ รู้จักตนเองจึงจะรู้จักผู้อื่น และต้องพยายามเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไรด้วย จึงจะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้อย่างทันท่วงที ผู้แต่งได้ให้ข้อคิดในการทำงานเป็นทีมคือ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความถ่อมตน จงคิดว่าทุกคนย่อมมีข้อดีในแต่ละด้าน ไม่มีใครดีกว่าใคร หากคิดเช่นนี้อัตตาตัวตนก็ไม่เกิด การทำงานเป็นทีมจึงจะสมบูรณ์

กฎข้อที่ 7. การเพิ่มพลังชีวิต (Sharpen the Saw)

ว่าด้วยวิธีการพักจิต และเพิ่มพลังเพื่อพร้อมที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไป มีวิธีการ ดังนี้

1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์

2. หัดสร้างมโนภาพอยู่ตลอดเวลา ต้องอ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้

3. มีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

4. เข้าใจและรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ และสร้างความสงบภายใน

จากนิสัยแห่งความสำเร็จทั้ง 7 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถสรุปเป็นใจความสั้น ๆ ได้ว่า Steven Covey ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้สมองข้างขวา การใช้จินตนาการ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมีหลักคุณธรรมในการดำรงชีวิต และการสร้างแผนที่ชีวิต

ที่มา : www.drboonchai.com

No comments: